วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา
(วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
|
"ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" | |
ความหมายของวันมาฆบูชา
คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3
การกำหนดวันมาฆบูชา
การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
ความสำคัญและประวัติของวันมาฆบูชา
ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
• 1.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
• 2.มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
• 3.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
• 4.พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
และ เพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
• จาตุร แปลว่า 4
• องค์ แปลว่า ส่วน
• สันนิบาต แปลว่า ประชุม
ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง
ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์
วันวิสาขบูชา
(วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)
|
"ดู ก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" |
ความหมายของ วันวิสาขบูชา
คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6
การกำหนด วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรง กับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ
ประวัติวันวิสาขบูชา และความสำคัญของ วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่...
1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ
เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"
เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระ ราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้น ด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส
2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ
หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ
• ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ " คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
• ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
• ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดู ก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธุ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และ ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
วันอัฏฐมีบูชา
(วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6)
วันอัฏฐมีบูชา คือวันอะไร มีความสำคัญอย่างไร
สำหรับ วันอัฏฐมีบูชา หรือ วันอัฏฐมี คือ วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน โดยมีการทำพิธี ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ประเทศอินเดีย ซึ่งเมื่อครั้งโบราณกาล วันอัฏฐมีบูชา นับเป็นวันที่ชาวพุทธมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ วันอัฏฐมีบูชา เวียนมาบรรจบในแต่ละปี พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นการเฉพาะเมื่อวันสำคัญนี้ เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ
ประวัติ วันอัฏฐมีบูชา
ตาม ประวัติ วันอัฏฐมีบูชา ระบุไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ก็จัดพิธีบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง
จากนั้น ก็ให้พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระ ที่ให้ห่อพระสรีระพระพุทธเจ้าด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด
ในการนี้ พระอนุรุทธะ จึงแจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ทั้งนี้ เนื่องจากเทวดาเหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเ ป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
หลังจากที่พระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น
และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจาก "โทณพราหมณ์" พราหมณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยประกาศว่า
"พระ ผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิง พระบรมสารีริกธาตุ ของพระองค์ผู้ประเสริฐ ย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น 8 ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก"
เมื่อ โทณพราหมณ์ ได้เสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน กษัตริย์แต่ละเมืองก็ยอมรับแต่โดยดี และกลับไปสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองของตัวเอง ดังนี้
• 1. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
• 2. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
• 3. กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
• 4. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
• 5. มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
• 6. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
• 7. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
• 8. มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
• 9. กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน
• 10. โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)
วันอาสาฬหบูชา
(วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)
ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะตรงกับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกหนึ่งวัน นั่นคือ "วันอาสาฬหบูชา"
ทั้งนี้ คำว่า "อาสาฬหบูชา" สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งจะประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8
วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จน พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่า วันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี
ทั้งนี้ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปล ว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ
สำหรับใจความสำคัญของการปฐมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
• การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค
• การสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
ดัง นั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
•1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
•2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
•3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
•4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
•5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
•6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
•7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
•8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
2. อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
♦ 1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
♦ 2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ
♦ 3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
♦ 4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา
พิธีกรรมโดยทั่วไปที่นิยมกระทำในวันนี้ คือ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยเรา ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา"
ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่
• 1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
• 2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้
• 3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
• 4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา" ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า – เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป - เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่าง หนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว
วันออกพรรษา
หลังเทศกาลเข้าพรรษา ผ่านพ้นไปได้ 3 เดือน ก็จะเป็น วันออกพรรษา ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดย วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "วันมหาปวารนา" คำว่า "ปวารนา" นั้นแปลว่า อนุญาตหรือยอมให้ โดยในปีนี้ วันออกพรรษา ตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2554
ทั้ง นี้ วันออกพรรษา พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ที่เรียกว่า มหาปวารณา ใน วันออกพรรษา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรืออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา
สำหรับ คำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้ "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ" มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี
เมื่อ ทำพิธี วันออกพรรษา แล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ หรือค้างคืนที่อื่นได้โดยไม่ผิดพระพุทธบัญญัติ และยังได้รับอานิสงค์ก็คือ
☺ ไปไหนไม่ต้องบอกลา
☺ ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
☺ มีสิทธิ์รับลาภที่เกิดขึ้นได้
☺ มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ที่จะสามารถขยายเวลาของอานิสงค์ออกไปอีก 4 เดือน
ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
☺ ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา ที่นิยมปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง คือ
1. ประเพณีตักบาตรเทโว หลัง วันออกพรรษา
หลัง วันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ "ตักบาตรเทโว" หรือชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน
ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโว มีดังนี้
สมัย พุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า "เทโวโรหณะ" ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
โดย พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลัง วันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้
2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ หลัง วันออกพรรษา
งาน เทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลัง วันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขี้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี
งาน เทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
*** ขอขอบคุณ www.kapook.com สำหรับข้อมูลนี้ด้วยนะคะ *** JB love